สถาบันอาหาร | National Food Institute| อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร
เชื้อก่อโรคในยำไข่แดงเค็ม

เชื้อก่อโรคในยำไข่แดงเค็ม

          เรื่องของรสชาติอาหาร ประเทศไทยขึ้นชื่อไม่เป็นสองรองใคร ทั้งเผ็ดร้อน หวาน เปรี้ยว เค็ม ซึ่งเกิดจากการผสมผสานวัตถุดิบ เครื่องเทศ เครื่องปรุงรสที่มีรสจัดจ้าน และตัดกันจนลงตัว

          ยำ นับเป็นอาหารไทยรสจัดจ้านชนิดหนึ่ง และมักจะเรียกชื่อยำต่างๆ ตามวัตถุดิบหลักที่ใช้ ทั้ง ยำวุ้นเส้น ยำมะม่วง ยำกุ้งสด ยำปูม้า ยำปูเค็ม ยำไข่เค็ม ยำรวมมิตร ยำหมูยอ ฯลฯ

          ทว่ายำทุกชนิดจะปลอดภัยต่อผู้บริโภค หากพ่อค้าแม่ค้าใส่ใจในเรื่องความสดและสะอาดของวัตถุดิบ รวมทั้งสุขลักษณะระหว่างการปรุง ไม่ว่าจะเป็นการสวมถุงมือขณะหยิบจับวัตถุดิบ ไม่ใช้เขียงหั่นเนื้อสัตว์ดิบและเนื้อสัตว์ปรุงสุกแล้วร่วมกัน ลวกวัตถุดิบต่างๆให้สุกก่อนนำมาปรุงรส ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำ

          หากขาดเรื่องใดเรื่องหนึ่งจะส่งผลเสียต่อผู้บริโภค เสี่ยงมีเชื้อก่อโรคปนเปื้อนในยำโดยเฉพาะเชื้อ ซาลโมเนลลา ต้นเหตุอาหารเป็นพิษ

           เมื่อเราทานอาหารที่มีเชื้อ ซาลโมเนลลา ปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกายจะทำให้มีอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน ปวดศีรษะ ปวดท้อง มีไข้ หนาวสั่นและอ่อนเพลีย อาการจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อที่ได้รับและภูมิต้านทานของแต่ละคน

          เพื่อเอาใจสายยำ “สถาบันอาหาร” ได้สุ่มตัวอย่างยำไข่แดงเค็ม จำนวน 5 ตัวอย่างจาก 5 ย่านการค้าในเขตกรุงเทพฯ เพื่อนำมาตรวจวิเคราะห์เชื้อ ซาลโมเนลลา ปนเปื้อน ผลปรากฏว่า พบยำไข่แดงเค็ม 4 ตัวอย่าง มีเชื้อ ซาลโมเนลลา ปนเปื้อน

          ตามเกณฑ์คุณภาพทางจุลชีววิทยาของอาหารและภาชนะสัมผัสอาหารฉบับที่ 3 (พ.ศ.2560) ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กำหนดให้อาหารประเภทยำต้องไม่พบเชื้อ ซาลโมเนลลา ปนเปื้อนเลย

           เห็นผลวิเคราะห์อย่างนี้แล้วขอแนะว่า ควรเลือกซื้อยำจากร้านที่สะอาด ผู้ปรุงมีการรักษาสุขลักษณะส่วนบุคคลที่ดี ที่สำคัญควรทานยำที่ปรุงสุกใหม่ๆ เพียงเท่านี้ก็ลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ ซาลโมเนลลา ลงได้.

ผลวิเคราะห์เชื้อ ซาลโมเนลลา ในยำไข่แดงเค็ม

 

ตัวอย่างที่สุ่มตรวจ

ซาลโมเนลลา

 (พบ,ไม่พบ/ 25 กรัม)

ยำไข่แดงเค็มใส่ปลาร้า  ร้านย่านหนองแขม

ไม่พบ

ยำไข่แดงเค็ม  ร้านย่านห้วยขวาง

พบ

ยำไข่แดงเค็มไม่ใส่ปลาร้า  ร้านย่านราชวัตร

พบ

ยำไข่แดงเค็มไม่ใส่ปลาร้า  ร้านย่านพญาไท

พบ

ยำไข่แดงเค็มไม่ใส่ปลาร้า  ร้านย่านบางกอกน้อย

พบ

 

       วันที่วิเคราะห์  29 ต.ค.- 8 พ.ย. 2562    วิธีวิเคราะห์ ISO 6579-1 : 2017

       ศูนย์วิจัยและประเมินความเสี่ยงด้านอาหารปลอดภัย  สถาบันอาหาร  กระทรวงอุตสาหกรรม

       โทร. 02 422 8688 หรือ http://www.nfi.or.th/foodsafety/
เอกสารเพิ่มเติม :
แนะนำลิงก์


Style Switcher

2 Color Skins