ข่าวประชาสัมพันธ์สถาบันอาหาร | National Food Institute| อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร

สถาบันอาหาร | National Food Institute| อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร
กระทรวงอุตสาหกรรม จับมือหน่วยงานวิจัย ศึกษาดูงานเพื่อเตรียมการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์จากกัญชง

วันศุกร์ที่ 19 มิถุนายน 2563 กระทรวงอุตสาหกรรม นำโดย นายสุชาติ ไตรแสงรุจิระ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ผนึกกำลังกับหน่วยงานภาครัฐ สถาบันเครือข่าย และสถาบันการศึกษา นำคณะทำงานด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์จากกัญชง เข้าเยี่ยมชมดูงาน และประชุมหารือเพื่อเตรียมความพร้อมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์จากกัญชง ณ กนกวรรณฟาร์ม จังหวัดนครสวรรค์

 

คณะทำงานดังกล่าวประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษา ได้แก่ กรมปศุสัตว์ สถาบันอาหาร สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เข้าหารือในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์จากกัญชงร่วมกับ บริษัท กนกวรรณฟาร์ม จำกัด ผู้ประกอบการเพาะเลี้ยงสุกรและไก่รายใหญ่ในจังหวัดนครสวรรค์

 

ด้านนายสุชาติ ไตรแสงรุจิระ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม เล็งเห็นถึงศักยภาพในการนำพืชกัญชง หรือ เฮมพ์ (Hemp) มาสร้างเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของประเทศไทย จึงให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ร่วมกับ หน่วยงานเครือข่ายภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม ได้แก่ สถาบันอาหาร สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จัดทำโครงการสนับสนุนอุตสาหกรรมแปรรูปพืชกัญชงเพื่อตอบสนองเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ในปีงบประมาณ 2564 สำหรับตอบโจทย์ที่สำคัญให้กับภาคอุตสาหกรรมกัญชงของประเทศ โดยการส่งเสริมสนับสนุนด้านเทคโนโลยีการแปรรูป กระบวนการผลิต และนวัตกรรม เพื่อนำทุกส่วนของพืชกัญชง ได้แก่ ช่อดอก ใบ เปลือก แกนในลำต้น มาวิจัยและแปรรูป ในส่วนของผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ถือเป็นเรื่องใหม่ในประเทศไทย ที่กระทรวงอุตสาหกรรมเล็งเห็นถึงคุณประโยชน์ของสาร CBD ที่มีในพืชกัญชง จึงได้ดำเนินการวิจัยถึงศักยภาพในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์จากกัญชง โดยร่วมมือกับหน่วยงานสถานศึกษาภาครัฐและเอกชน เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

 

ด้าน นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า ในเบื้องต้นสถาบันอาหารได้เตรียมการวิจัยผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับมนุษย์ที่แปรรูปมาจากพืชกัญชง และมีความยินดีที่จะร่วมมือกับหน่วยงานร่วมวิจัยอื่นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์จากกัญชงในครั้งนี้

 

ด้าน รศ.น.สพ.จตุพร กระจายศรี คณบดีคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานครกล่าวถึงคุณประโยชน์ของสาร CBD ในพืชกัญชง ที่หากนำไปผสมกับอาหาร จะมีสรรพคุณช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน การอยากอาหาร การสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาว เป็นต้น ซึ่งหากนำมาใช้ในอาหารสัตว์ ก็อาจจะมีสรรพคุณช่วยให้สัตว์มีภูมิต้านทานต่อโรค คลายเครียด และเจริญอาหาร ซึ่งทีมวิจัยต้องศึกษาต่อถึงขนาดของสารที่เหมาะสมกับสัตว์ ในเบื้องต้นการวิจัยครั้งนี้ อาจเริ่มจากไก่และสุกร โดยหากได้สูตรการผลิตที่แน่นอนแล้วก็สามารถขออนุญาตผลิตในเชิงอุตสาหกรรมต่อไป

 

ด้าน นายอดุลย์ คำพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กนกวรรณฟาร์ม จำกัด กล่าวว่า มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในการร่วมือกับกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยวิจัย โดยเห็นด้วยกับคุณประโยชน์ของพืชกัญชง โดยเฉพาะการนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ ทางบริษัทมีความพร้อมและยินดีสนับสนุนบุคลากรและสถานที่ในการวิจัยอย่างเต็มที่

 

ในช่วงท้าย นายสุชาติ ไตรแสงรุจิระ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า งานวิจัยนี้จะสร้างคุณประโยชน์ต่อประเทศไทยทั้งในภาคการปศุสัตว์ และภาคการเกษตรที่ส่งเสริมให้มีการปลูกพืชกัญชงเพื่อป้อนให้กับภาคอุตสาหกรรมแปรรูป ในการนำเอาพืชกัญชงมาแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งถือเป็นพืชที่สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้ประเทศไทยได้ในอนาคต

-----------------------------------------------------------------------------------------------------

สำหรับการนำส่วนประกอบจากกัญชงมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์นั้น ในต่างประเทศมีการดำเนินงานก่อนหน้าแล้ว ยกตัวอย่างเช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา มีการนำกัญชงมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและขนนขบเคี้ยวสำหรับสุนัขและแมว และได้รับความนิยมอย่างมาก เนื่องจากเจ้าของสัตว์เลี้ยงบางส่วนเชื่อว่าวัตถุดิบดังกล่าวมีส่วนช่วยรักษาอาการป่วยหรือส่งเสริมสุขภาพของสัตว์เลี้ยงได้ เช่น อาการกระวนกระวาย ระบบการย่อยอาหาร การปวดเรื้อรัง การเคลื่อนไหวของร่างกาย การอักเสบ และการระคาย เคืองทางผิวหนัง

 

สำหรับประเทศไทย กัญชงมีความสำคัญต่อการพัฒนายกระดับอุตสาหกรรม S-Curve และ New S-Curve ในฐานะพืชเศรษฐกิจที่จะมีบทบาทในการพัฒนาเป็นสินค้าอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศในอนาคตอันใกล้นี้ ภาคเอกชนไทยมีความต้องการใช้กัญชงเป็นวัตถุดิบในการสร้างมูลค่าเพิ่มในระดับอุตสาหกรรมมานานแล้ว ในขณะที่ภาคการเกษตรก็ต้องการปลูกพืชกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และพืชมูลค่าต่ำอื่น ๆ รวมถึงปัจจุบันกฎหมายกำลังเปิดกว้างเพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถลงทุนพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกัญชงออกสู่ตลาดในเชิงพาณิชย์ได้หลากหลายและคล่องตัวมากขึ้น

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
แนะนำลิงก์


Style Switcher

2 Color Skins