สถาบันอาหาร | National Food Institute| อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร
เชื้อซาลโมเนลลาปนเปื้อน ในเนื้อไก่ดิบ

เชื้อ ซาลโมเนลลา ในเนื้อไก่ดิบ

          เนื้อไก่ แหล่งโปรตีนจากเนื้อสัตว์ที่ใช้ปรุงอาหารคาวได้หลากหลายเมนู ที่นิยมตามร้านอาหารตามสั่งทั่วไป เช่น  เมนูกระเพราไก่  ไก่ทอด ไก่ย่าง ไก่ทอดกระเทียม ผัดพริกแกงไก่ แกงเขียวหวานไก่ แกงป่าไก่ ไก่ตุ๋น ก๋วยเตี๋ยวไก่ คนไทยนิยมทานเพื่อให้อิ่มท้องและให้สารอาหารโปรตีนแก่ร่างกาย เนื้อไก่แม้จะมีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ก็อาจมีอันตรายหรือสิ่งปนเปื้อนแอบแฝงอยู่ด้วยได้

          อันตรายที่ว่าคือ เชื้อก่อโรคที่ชื่อ ซาลโมเนลลา   ปกติเชื้อชนิดนี้พบได้ในสัตว์ตามธรรมชาติอยู่แล้ว เช่น พบในสัตว์ปีก แมลง วัว ควาย สุนัข แมว หนู และอาจพบปนเปื้อนมากับน้ำและในอาหาร โดยมักพบปนเปื้อนในเนื้อไก่ ไข่ นม ผลิตภัณฑ์นม ที่ไม่ผ่านความร้อนอย่างเพียงพอ  อาหารสุกๆ ดิบๆ แหนม และผักสด   อันตรายของเชื้อ ซาลโมเนลลา  คือ ทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน ปวดศีรษะ ปวดท้อง มีไข้ หนาวสั่น และอ่อนเพลีย  และโรคกระเพาะอาหาร ลำไส้อักเสบ และโรคไข้ไทฟอยด์

         วันนี้ สถาบันอาหารได้เก็บตัวอย่างเนื้อไก่ดิบจำนวน  5 ตัวอย่าง จากร้านค้าในตลาดสดเขตกรุงเทพฯ เพื่อนำมาวิเคราะห์เชื้อ ซาลโมเนลลา ปนเปื้อน  ผลปรากฏว่าพบเชื้อ ซาลโมเนลลา ในไก่ดิบทั้ง  5 ตัวอย่าง ตามเกณฑ์คุณภาพทางจุลชีววิทยาของอาหารและภาชนะสัมผัสอาหารฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2560) ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กำหนดให้ในเนื้อไก่ดิบ ต้องไม่พบเชื้อ ซาลโมเนลลา ปนเปื้อนใน  25 กรัม เห็นผลวิเคราะห์อย่างนี้แล้ว  ขอแนะว่าไม่ควรทานเนื้อไก่ดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ ควรทำให้สุกก่อนทานทุกครั้ง เช่น ให้ความร้อนที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส นาน 4-5 นาที หรือ100 องศาเซลเซียส นาน 1 นาที  เพื่อฆ่าเชื้อ ซาลโมเนลลา ที่ปนเปื้อนอยู่ในเนื้อไก่ให้ตายเสียก่อน และเพื่อความปลอดภัยของร่างกายเรา ///

 

ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย

 

เอกสารเพิ่มเติม :
แนะนำลิงก์


Style Switcher

2 Color Skins