สถาบันอาหาร | National Food Institute| อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร
ตะกั่วกับขิงสด

ตะกั่วกับขิงสด

 

           ขิงสมุนไพรของไทย มีลำต้นแท้อยู่ใต้ดินและมีลักษณะเป็นเหง้า  เรียกกันว่าแง่งขิง คล้ายนิ้วมือ  รสชาติหวาน  เผ็ดร้อน  ขิงมีฤทธิ์แก้หวัด  ขับเหงื่อ บำรุงกระเพาะ แก้อาการคลื่นไส้ อาเจียน ช่วยขับลม บำรุงธาตุไฟ รักษาระดูมาไม่สม่ำเสมอ และลดอาการปวดประจำเดือน แม้ขิงจะมีสรรพคุณมากมาย ทว่าขิงเป็นพืชล้มลุกที่มีเหง้าอยู่ใต้ดิน  หากดินบริเวณที่ปลูกหรือน้ำที่ใช้รด มีโลหะหนักปนเปื้อน เช่น ตะกั่ว  ก็อาจทำให้ตะกั่วถูกดูดซึม และปนเปื้อนเข้าสู่เหง้าขิงได้                                     

           เมื่อเรานำขิงมาปรุง ประกอบอาหารหรือเครื่องดื่มและทานเข้าไป ก็อาจทำให้ตะกั่วเข้าสู่ร่างกายและเป็นอันตรายได้ โดยตะกั่วจะถูกดูดซึมในระบบทางเดินอาหาร กระจายตัวอยู่ในกระแสเลือด ตับและไต หากร่างกายได้รับตะกั่วปริมาณมากๆ จะทำให้มีอาการคลื่นไส้  อาเจียน ปวดท้องอย่างรุนแรงเป็นพักๆความคิดสับสน ชักหรือหมดสติ แต่หากได้รับตะกั่วเข้าสู่ร่างกายต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ จะทำให้มีอาการแบบเรื้อรัง คือ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องอย่างรุนแรง น้ำหนักลด ปวดตามกล้ามเนื้อและข้อต่อต่าง ๆ  มีอาการชาตามปลายมือปลายเท้า  พบภาวะเลือดจาง และภาวะไตวายเรื้อรัง

          วันนี้ สถาบันอาหาร ได้สุ่มตัวอย่างขิงแก่สดจำนวน 5 ตัวอย่าง ที่วางจำหน่ายตามร้านค้าและตลาด ในเขตกรุงเทพฯและต่างจังหวัด เพื่อนำมาวิเคราะห์ปริมาณตะกั่วปนเปื้อน  ผลปรากฎว่ามีขิง 4 ตัวอย่าง ที่พบตะกั่วปนเปื้อนอยู่ในช่วง 0.05-0.28 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม  ซึ่งปริมาณที่พบนับว่าน้อยมาก และยังไม่เกินค่ามาตรฐาน  ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 414 พ.ศ. 2563 เรื่องมาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน กำหนดให้พบตะกั่วปนเปื้อนได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ///

 

ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย

 

เอกสารเพิ่มเติม :
แนะนำลิงก์


Style Switcher

2 Color Skins