สถาบันอาหาร | National Food Institute| อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร
เชื้อ แซลโมเนลลา ในไข่เยี่ยวม้า

เชื้อซาลโมเนลลาในไข่เยี่ยวม้า

        ไข่เยี่ยวม้าหรือไข่สำเภา อาหารที่เกิดจากการนำไข่เป็ด ไข่ไก่ มาแปรรูปหรือถนอมอาหาร โดยใช้กรรมวิธีทำให้เป็นด่าง ทำให้ได้ไข่เยี่ยวม้ามีลักษณะไข่ขาวเป็นวุ้นใสสีน้ำตาลอ่อนถึงเข้ม ส่วนไข่แดงมีลักษณะครีมแข็งบางส่วน สีเทาดำหรือเขียวเข้มปนน้ำตาล มีกลิ่นและรสชาติเฉพาะตัว ไข่เยี่ยวม้าที่ขายตามท้องตลาด เมื่อซื้อมาสามารถทานได้เลย เช่น หั่นเป็นชิ้นๆทานเป็นออเดิร์ฟ หรือนำมาปรุงเป็นเมนูที่ชอบ เช่น กะเพราไข่เยี่ยวม้า โจ๊กไข่เยี่ยวม้า ไข่เยี่ยวม้าที่เราเห็นเป็นวุ้นนั้น แท้ที่จริงยังไม่ผ่านการทำให้สุก แต่เป็นวุ้นเพราะผ่านกระบวนการทางเคมี

        ฉะนั้น ก่อนทานแนะนำให้นำไปทำให้สุก หรือต้ม หรือผ่านความร้อนให้สุกก่อนจะดีกว่า เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดจากเชื้อก่อโรค เช่น เชื้อซาลโมเนลลา เชื้อชนิดนี้ปกติพบปนเปื้อนในอาหารประเภทสัตว์ปีก เนื้อไก่ ไข่ นมและผลิตภัณฑ์นมที่ไม่ผ่านความร้อนอย่างเพียงพอ หรือไม่ผ่านการปรุงให้สุก หากไข่สดที่นำมาเป็นวัตถุดิบในการทำไข่เยี่ยวม้าไม่ล้างทำความสะอาดให้ดีเสียก่อน ก็อาจทำให้มีเชื้อ ซาลโมเนลลา ปนเปื้อนได้ หรือหากผู้ผลิตไข่เยี่ยวม้าไม่รักษาสุขลักษณะส่วนบุคคลให้ดีเพียงพอ เช่น เข้าห้องน้ำไม่ล้างมือ ไอ จามไม่ปิดปาก อาจทำให้เชื้อ ซาลโมเนลลา ปนเปื้อนในไข่เยี่ยวม้าได้ เมื่อเราทานอาหารที่มีเชื้อปนเปื้อนเข้าไปจะทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน ปวดศีรษะ ปวดท้อง มีไข้ หนาวสั่นและอ่อนเพลีย ความรุนแรง ของอาการขึ้นกับปริมาณเชื้อที่ได้รับและความต้านทานของแต่ละคน ซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้ต้องไม่พบเชื้อ ซาลโมเนลลา ปนเปื้อนในไข่เยี่ยวม้า 25 กรัม สถาบันอาหารสุ่มตัวอย่างไข่เยี่ยวม้าจำนวน 5 ตัวอย่าง จากตลาดในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อนำมาวิเคราะห์เชื้อ ซาลโมเนลลา ปนเปื้อน ผลปรากฏว่าทุกตัวอย่างไม่พบเชื้อ ซาลโมเนลลา ปนเปื้อน ขอย้ำอีกครั้งว่า ก่อนทานควรนำไข่เยี่ยวม้ามาปรุงให้สุกก่อน หรือหากต้องเก็บไว้แนะนำให้เก็บไว้ในตู้เย็น ก่อนนำมาปรุงให้สุกและทาน เพื่อความปลอดภัย.

 

 

ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย

เอกสารเพิ่มเติม :
แนะนำลิงก์


Style Switcher

2 Color Skins