• เครื่องดื่มอัดก๊าซกับแอสพาร์เทม

         เครื่องดื่มอัดก๊าซ น้ำอัดลม นับเป็นเครื่องดื่มที่ทุกเพศทุกวัยชื่นชอบเพราะมีรสหวาน ซ่า ดื่มแล้วชื่นใจ ส่วนประกอบหลักของเครื่องดื่มอัดก๊าซคือ น้ำ น้ำตาล ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อาจเติมกลิ่นและสีเพื่อให้น่าดื่มมากขึ้น ด้วยกระแสการรักสุขภาพของผู้บริโภคปัจจุบัน และการรณรงค์ป้องกันโรค NCDs ของรัฐ ทำให้ผู้ผลิตผลิตเครื่องดื่มอัดก๊าซสูตรไม่ใส่น้ำตาลมากขึ้น โดยเติมสารให้ความหวาน เช่น  แอสพาร์เทมแทนน้ำตาล ทำให้เครื่องดื่มยังคงความหวานไว้ แต่มีแคลอรี่ต่ำลงหรือให้พลังงานต่ำ ช่วยลดการบริโภคน้ำตาล ป้องกันโรค NCDs เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูงได้ 

  • น้ำปลาร้ากับสารตะกั่ว

            น้ำปลาร้า เครื่องปรุงอาหารถิ่นอีสานที่คนไทยนิยมนำมาปรุงอาหารหลากหลายเมนู เช่น ส้มตำปูปลาร้า ยำขนมจีนและยำต่างๆ แกงเปอระ แกงหน่อไม้สด หมูปลาร้า เพราะน้ำปลาร้าช่วยให้อาหาร มีรสอร่อย หรือที่เรียกกันว่านัว น้ำปลาร้าได้จากการนำปลาน้ำจืด เช่น ปลากระดี่ ปลาสร้อย ปลาช่อน หรือปลาทะเล เช่น ปลาจวด ปลาข้างเหลือง ปลาช่อนทะเลมาหมัก กระบวนการหมักเริ่มจากล้างปลาให้สะอาดแล้วนำมาผสมกับเกลือ รำ ข้าวคั่ว หมักทิ้งไว้ 3 เดือนถึง 1 ปี จากนั้นกรองและต้มให้สุก ก็จะได้น้ำปลาร้าแซ่บนัว ปัจจุบัน มีน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จต้มสุกบรรจุขวดวางขายในท้องตลาดและร้านค้าออนไลน์หลายยี่ห้อให้เราเลือกซื้อมาปรุงอาหารได้สะดวกขึ้น ทว่าน้ำปลาร้าที่ช่วยชูรสให้อาหารนัวนั้น อาจมีอันตรายบางอย่างแฝงอยู่ได้

  • ไอศกรีมกะทิกับเชื้อ ลิสทิเรีย โมโนไซโตจิเนส

            ไอศกรีมกะทิ ของหวานท้องถิ่นที่อยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน ยิ่งอากาศร้อนๆ หากได้ทานไอศกรีมกะทิแล้วจะทำให้สดชื่นและชื่นใจ ด้วยเพราะรสชาติที่หวานมันละมุนลิ้น บวกกับกลิ่นหอมๆ ของกะทิ คนไทยมักทานร่วมกับเครื่องเคียง เช่น ลูกชิด ขนุนฉีก ข้าวโพด มันเชื่อม วุ้นมะพร้าว เนื้อมะพร้าว ข้าวเหนียวมูล ขนมปัง และราดนมข้นจืด โรยถั่วลิสงคั่วเพิ่มความนัว มีทั้งแบบตักใส่ ขนมปังใส่โคนไอศกรีม ใส่ถ้วยพลาสติกและใส่ลูกมะพร้าว ไอศกรีมกะทิมีส่วนประกอบหลักคือ กะทิสด หากใช้วัตถุดิบกะทิที่ไม่สด สะอาด หรือในระหว่างการผลิตผู้ผลิตไม่รักษาสุขลักษณะให้ดีเพียงพอ ใช้ภาชนะและอุปกรณ์ที่ไม่สะอาด อาจทำให้เชื้อโรคปนเปื้อนได้ เช่น  ลิสทิเรีย โมโนไซโตจิเนส

  • ซีเรียลบาร์กับแอฟลาทอกซิน

            ซีเรียลบาร์ หรือธัญพืชอัดแท่ง อาหารพร้อมบริโภคที่นิยมทานช่วงเช้าในหมู่คนรักสุขภาพและผู้ที่มีชีวิตเร่งรีบแต่ต้องการทานอาหารที่มีประโยชน์ มีคุณค่าครบถ้วน ทั้งคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน น้ำตาล ใยอาหาร วิตามิน แร่ธาตุต่างๆ แถมพกพาสะดวกและทานง่าย ซีเรียลบาร์ ประกอบไปด้วยถั่วและธัญพืชหลายชนิดแล้วแต่สูตร เช่น ถั่วลิสง ถั่วเหลือง อัลมอนด์ ฮาเซลนัต พิสทาชิโอ ข้าวโอ๊ต ข้าวโพด ข้าวสาลี เม็ดมะม่วงหิมพานต์ วอลนัท แมคคาเดเมีย และอาจผสมลูกเกดแครนเบอร์รี่แห้ง สตรอเบอร์รี่แห้งหรือช็อคโกแลตเพื่อเพิ่มรสชาติ หากผู้ผลิตใช้วัตถุดิบถั่วและธัญพืชที่ไม่สะอาดเพียงพอ หรือเก็บรักษาไว้ใน ที่ชื้นก่อนนำมาผลิต อาจทำให้ซีเรียลบาร์ ปนเปื้อนเชื้อราได้ 

  • โคเลสเตอรอลในแคบหมูติดมัน

            แคบหมูติดมัน อาหารทานเล่น หรือทานเป็นเครื่องเคียงกับอาหารคาวอื่นๆ เช่น จิ้มกับน้ำพริกหนุ่มน้ำพริกอ่อง น้ำพริกปลาร้า หรือทานเคียงกับก๋วยเตี๋ยวเรือ ส้มตำ ยำต่างๆ แคบหมูติดมันทำมาจากส่วนหนังของหมูโดยนำมาเจียวให้กรอบ ฟู ทำให้มีทั้งความกรอบของหนัง มีมันที่นุ่มลิ้น และให้รสชาตที่อร่อยแม้ขณะเจียวจะมีน้ำมันหมูออกมามากแต่ในหนังหมูยังคงมีไขมันอิ่มตัวอยู่ในปริมาณสูง รวมถึงโคเลสเตอรอล ฉะนั้นหากเราทานในปริมาณมากๆ หรือทานบ่อยครั้งตามใจปาก จะทำให้ไขมันหรือโคเลสเตอรอลสะสมในร่างกายอาจทำให้เป็นอันตรายและเกิดโรคได้ 

  • สารกันเสียกับกาน่าฉ่าย

            กาน่าฉ่ายอาหารชาวจีนแต่โบราณ ปัจจุบันนิยมทานช่วงเทศกาลกินเจเพราะให้ไฟเบอร์สูงอยู่ท้อง กาน่าฉ่าย ทำจากผักกาดดอง นำมาล้างให้สะอาด หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำไปผัดกับน้ำมันพืชด้วยไฟอ่อน จากนั้นเติมลูกสมอหรือลูกกาน่า ปรุงรสด้วยน้ำมันงา ผงชูรส และเกลือ ผัดจนมีกลิ่นหอม เนื้อนิ่ม สีออกดำ ก็จะได้กาน่าฉ่ายมีรสชาติเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม กลมกล่อม ทว่า ผู้ผลิตบางรายที่ต้องการให้กาน่าฉ่ายเน่าเสียหรือเสื่อมคุณภาพช้า ก็อาจเติมสารกันเสีย 

  • เชื้อ แบซิลลัส ซีเรียส กับขนมเปี๊ยะ

            ขนมเปี๊ยะ ขนมสัญชาติจีนสัญลักษณ์แห่งความเป็นสิริมงคล มักใช้ในเทศกาลต่างๆ คนไทยนิยมทานเป็นอาหารว่าง ไส้ของขนมเปี๊ยะมีทั้งแบบดั้งเดิมคือ ไส้ถั่วเหลืองหรือฟัก และปัจจุบันที่มีการพัฒนา  โดยเพิ่มรสชาติ กลิ่นของไส้ด้วยการเพิ่มส่วนผสมของงา ทุเรียน เผือก ไข่แดงเค็ม ด้วยความที่ขนมเปี๊ยะมีถั่วเหลืองกวนเป็นส่วนประกอบหลักของไส้  มีแป้งห่อรอบนอก และการผลิตต้องสัมผัสกับมือคน อาจทำให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อก่อโรค เช่น แบซิลลัส ซีเรียส ได้

  • เต้าหู้ปลากับบอร์แรกซ์

            เต้าหู้ปลา ผลิตภัณฑ์แปรรูปที่มีส่วนประกอบของเนื้อปลา เช่น ปลาทรายแดง ปลาดาบยาว ปลาตาหวานปลาทรายดำ ผสมกับถั่วเหลือง แป้งถั่วเหลือง แป้งมันสำปะหลัง ปรุงรสด้วยเกลือ น้ำตาลและพริกไทย คนไทยใช้เต้าหู้ปลาประกอบอาหารได้หลายเมนู เช่น เต้าหู้ปลาทรงเครื่อง เต้าหู้ปลาผัดขึ้นฉ่าย   ยำเต้าหู้ปลา ผัดถั่วงอกใส่เต้าหู้ปลา เต้าหู้ปลาผัดพริกเกลือ หรือใช้เป็นส่วนประกอบของเมนูหม้อไฟ ชาบู หมูกระทะเต้าหู้ปลา

  • หนังปลากรอบกับโซเดียม

            หนังปลากรอบ อาหารทานเล่น เครื่องเคียงที่คนไทยนิยมทานแกล้มกับก๋วยเตี๋ยว ส้มตำ ยำ น้ำพริกหรือทานแกล้มกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หนังปลากรอบเป็นอาหารที่หาซื้อง่าย ราคาถูก ทำจากหนังปลาหลายชนิด ในขั้นการหมักและปรุงรสชาติหนังปลากรอบนั้น ส่วนประกอบที่ใช้หมักหรือปรุงมักมีโซเดียมสูง จึงส่งผลให้หนังปลากรอบมีโซเดียมอยู่ด้วย แม้โซเดียมเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย แต่หากได้รับในปริมาณมากๆ หรือมากเกินไปเป็นประจำ อาจมีผลต่อร่างกายได้

  • ขนมลูกชุบกับสีผสมอาหาร
            ขนมลูกชุบ ขนมหวานไทยๆ ที่มีสีสันฉูดฉาด สวยงาม รูปทรงเป็นผักหรือผลไม้ไทยนานาชนิด เช่น พริก มะเขือเทศ ส้ม มังคุด มะม่วง ชมพู่ ทุเรียน กล้วย เชอรี่ สีผสมอาหารสังเคราะห์ เป็นหนึ่งในส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้ขนมลูกชุบมีสีสันสดใส สวยงาม น่าทาน ผู้ผลิตนิยมใช้สีผสมอาหารสังเคราะห์มากกว่าใช้สีธรรมชาติเพราะใช้งานง่าย และมีราคาถูก ซึ่งหากร่างกายได้รับสีผสมอาหาร (สีสังเคราะห์) ในปริมาณมากเกินไปหรือบ่อยครั้งอาจทำให้เกิดอันตราย
Page: 1 of 65 page(s)
PREV 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 14 15 NEXT