• สารกันบูดกับหมูยอ

            หมูยอ อาหารสัญชาติเวียดนาม ที่กลายมาเป็นอาหารยอดนิยม และเป็นของฝากที่ขึ้นชื่อในแถบภาคอีสานและภาคเหนือของเมืองไทย กรรมวิธีการทำหมูยอเริ่มจากนำเนื้อหมูที่บดแล้วมาเติม ผงปรุงรส เครื่องเทศเพื่อเพิ่มรสชาติ แล้วนำมาอัดเป็นแท่ง และทำให้สุกด้วยการนึ่งหรือต้ม หากทำทานเองในครอบครัวหรือหมู่ญาติพี่น้องอาจไม่มีอะไรต้องกังวล เพราะมั่นใจได้ถึงความสะอาด ปลอดภัย ทว่าหากซื้อหมูยอจากท้องตลาด สิ่งหนึ่งที่จะขอเตือนคือ อันตรายจากสารกันบูด ที่ผู้ผลิตบางรายอาจเติมลงไปในหมูยอ เพื่อให้สามารถเก็บรักษาไว้ขายได้นานๆ สารกันบูดที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมผลิตอาหารมี 2 ชนิดคือ กรดเบนโซอิกที่สามารถยับยั้งการเติบโตของยีสต์และแบคทีเรียได้ดี และกรดซอร์บิกที่มีประสิทธิภาพสูงในการยับยั้งเชื้อราและยีสต์ อีกทั้ง มีความเป็นพิษน้อยและกฎหมายอนุญาตให้ใช้ในอาหารได้ ตามชนิดและปริมาณที่กำหนด

  • แอฟลาทอกซินในกระเทียม

            กระเทียม คนไทยนำมาใช้เป็นทั้งเครื่องเทศในการประกอบอาหาร หรือใช้เป็นสมุนไพรเพื่อรักษาโรค เพราะกระเทียมสามารถป้องกันทั้งโรคหัวใจหลอดเลือด รักษาโรคกลากเกลื้อน บรรเทาอาการคัดจมูก และลดอาการผื่นคันจากแมลงสัตว์กัดต่อยแอฟลาทอกซิน สารพิษที่ผลิตจากเชื้อรา Aspergillus flavus และ Aspergillus paraciticus ที่มักพบปนเปื้อนในผลผลิตทางการเกษตรรวมถึงกระเทียม เชื้อราทั้งสองชนิดเติบโตได้ทุกสถานการณ์ ตั้งแต่กระบวนการผลิต การเก็บเกี่ยว การจัดการหลังเก็บเกี่ยว การเก็บรักษาและการขนส่ง จึงทำให้สารพิษแอฟลาทอกซินอาจปนเปื้อนอยู่ในผลิตผลเกษตร และผลิตภัณฑ์ได้

  • เชื้อก่อโรคในน้ำอ้อย

            น้ำอ้อย เครื่องดื่มที่มีรสหวาน กลิ่นหอม หากดื่มเย็นๆแล้วทั้งชื่นใจ ทำให้ชุ่มคอ และช่วยคลายร้อนได้ ร้านรถเข็นขายน้ำอ้อยเป็นร้านที่อยู่คู่กับสังคมไทยมานาน ที่เห็นจนชินตาทั้งตามตลาดนัดแผงลอย ร้านค้าริมทางตามท้องถนน ร้านค้าในห้างสรรพสินค้าและซุปเปอร์มาร์เกต ทว่าสิ่งหนึ่งที่มันมากับอาหาร ขอเตือนทุกท่านที่เป็นขาประจำน้ำอ้อยบรรจุขวดซื้อจากร้านค้าในตลาดย่านต่างๆว่าน้ำอ้อยนั้นอาจมีเชื้อโรคปนเปื้อนได้ เช่น เชื้อ อี.โคไลเชื้อชนิดนี้ พบได้ปกติในอุจจาระของคนและสัตว์ จึงใช้เป็นดัชนีบ่งชี้สุขลักษณะของอาหารและน้ำ ซึ่งหมายถึงว่าหากอาหารและน้ำมี เชื้อ อี.โคไล ปนเปื้อนนั่นแสดงว่าไม่สะอาดและอาจไม่ปลอดภัย เพราะการที่อาหารและเครื่องดื่มมี เชื้อ อี.โคไล ปนเปื้อนจำนวนมากๆ หรือมีเชื้อ อี.โคไล สายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรคปนเปื้อน เช่น อาหารที่ปรุงไม่สุก อาหารดิบ อาหารปรุงสุกที่ค้างคืนไว้นาน ผักผลไม้ที่ล้างไม่สะอาด เครื่องดื่มหรือน้ำที่มีการปนเปื้อนของเชื้อ หรือผู้ผลิตไม่รักษาความสะอาดในระหว่างการผลิต

  • เชื้อก่อโรคกับยำปูม้า (ดิบ)

            ยำปูม้า อาหารรสแซ่บที่ถูกปากคนไทยแทบทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะบรรดาสาวๆออฟฟิศ ที่นิยมชมชอบอาหารประเภทยำที่มีรสจัดจ้าน เผ็ดร้อนและไขมันต่ำ ดังจะเห็นว่าแทบทุกหัวมุมถนน ริมทาง ริมฟุตปาท ร้านอาหารในตลาดสด ศูนย์อาหาร ซุปเปอร์มาร์เกต ล้วนต้องมีร้านขายสารพัดยำ รวมถึงยำปูม้า ที่มีส่วนประกอบหลักเป็นปูม้าดิบหรือสุก มะม่วงสับ หอมแดง พริก ถั่วลิสง และเครื่องปรุงอย่างมะนาว น้ำตาล น้ำปลา เพื่อให้มีรสจัดจ้าน ทว่าปูม้าเป็นอาหารทะเลที่ปกติตามธรรมชาติ อาจพบเชื้อก่อโรคปนเปื้อนได้ เช่น วิบริโอ พาราฮีโมไลติคัสเชื้อชนิดนี้มักอาศัยอยู่ตามทะเลชายฝั่งแบบปิดหรือน้ำกร่อย อาศัยอยู่ในดินหรือตะกอนก้นทะเลที่ไม่ลึกมาก จึงมักพบปนเปื้อนในกุ้ง กั้ง ปู หอย หากพ่อค้าแม่ค้า ไม่ล้างทำความสะอาดกุ้ง หอย ปูที่นำมาปรุงอาหารโดยเฉพาะอาหารประเภทยำดิบๆให้สะอาดเพียงพอ หรือไม่นำกุ้ง หอย ปู มาทำให้สุกก่อนปรุงเป็นยำขาย ก็อาจทำให้ผู้บริโภคที่ซื้อและทานเข้าไปเป็นอันตรายได้ เพราะเชื้อ วิบริโอ พาราฮีโมไลติคัส นั้นทำให้เกิดโรคกระเพาะ ลำไส้อักเสบ ทำให้มีอาการท้องร่วง ท้องเสีย อุจจาระมีเลือดปน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว หนาวสั่น มีไข้ต่ำ

  • บอแรกซ์กับลูกชิ้นทอด

            ลูกชิ้นทอดอาหารทานเล่นที่หาซื้อได้ง่ายทั้งในศูนย์อาหาร ร้านค้า รถเข็นริมทางหรือสตรีทฟู้ด หรือแม้กระทั่งร้านค้าในปั๊มน้ำมัน เพราะเป็นของทานง่าย อิ่มท้อง ที่สำคัญราคาย่อมเยาทุกคนเข้าถึงได้ ลูกชิ้นมีส่วนผสมหลักคือ เนื้อสัตว์ชนิดต่างๆ เช่น หมู เนื้อ ไก่ หรือปลา แป้งและอาจผสมเครื่องเทศด้วยเพื่อเพิ่มรสชาติ ปัจจุบันมีพ่อค้า แม่ค้าบางรายมีการนำบอแรกซ์หรือที่เรียกกันว่าน้ำประสานทอง ผงกรอบ ผงเนื้อนิ่ม สารข้าวตอก และผงกันบูด มาเติมลงในลูกชิ้นเพื่อให้ลูกชิ้นกรอบและกันเสีย สารบอแรกซ์เป็นสารที่อันตรายต่อทุกส่วนของร่างกายเมื่อเราทานอาหารที่มีสารบอแรกซ์ปนเปื้อนจะทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด หากได้รับเป็นประจำจะทำให้เกิดการสะสม ทำให้เกิดความผิดปกติของไต กระเพาะอาหาร และลำไส้อักเสบ สมองบวมช้ำ หากได้รับในปริมาณมากจะทำให้อาเจียนเป็นเลือดได้ ลองสังเกตง่ายๆว่าหากซื้อลูกชิ้นทอดจากร้านใดมาทานแล้วพบว่า ลูกชิ้นเด้งหรือกรอบมากๆก็ให้สันนิษฐานได้เลยว่าอาจมีการเติมสารบอแรกซ์ลงไป

  • แอฟลาทอกซินในกราโนล่า

            กราโนล่า อาหารเช้าและของว่างเพื่อสุขภาพที่มีส่วนผสมหลักๆของธัญพืช ถั่ว ผลไม้แห้ง อาจปรุงรสด้วยน้ำตาล น้ำผึ้ง คาราเมลหรือช็อกโกแลต กราโนล่าเป็นอาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีน วิตามิน แร่ธาตุ ใยอาหาร ทว่าการที่กราโนล่ามีส่วนผสมของธัญพืช ถั่ว ผลไม้แห้ง อาจมีการปนเปื้อนของสารพิษจากเชื้อราได้ เช่น แอฟลาทอกซิน หากผู้ผลิตใช้วัตถุดิบที่ไม่มีคุณภาพ หรือมีกระบวนการผลิตที่ไม่ถูกสุขลักษณะ แอฟลาทอกซิน คือ สารพิษที่ผลิตจากเชื้อราชื่อ Aspergillus flavus และ Aspergillus paraciticus มักพบปนเปื้อนในเมล็ดธัญพืช ถั่วเมล็ดแห้ง เมล็ดพืชน้ำมัน เช่น ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ข้าว ข้าวสาลี ถั่วลิสง มะพร้าว สมุนไพรและเครื่องเทศแห้งสารพิษชนิดนี้เป็นอันตรายเพราะเป็นสารที่ก่อให้เกิดมะเร็ง ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นที่ตับ และในอวัยวะอื่นๆ เช่น ไต ระบบทางเดินอาหาร ระบบประสาท ระบบสืบพันธุ์ และระบบภูมิคุ้มกัน หากเราได้รับสารพิษชนิดนี้เข้าสู่ร่างกาย จำนวนมากหรือจำนวนน้อย แต่ได้รับเป็นประจำอาจสะสมในร่างกายทำให้เกิดอาการชัก หายใจลำบาก ตับถูกทำลาย หัวใจและสมองบวมได้ ที่สำคัญมันทนความร้อนได้สูงถึง 260 องศาเซลเซียส นั่นแสดงว่าความร้อนจากการปรุงอาหาร หรือหุงต้มทั่วไป ไม่สามารถทำลายมันได้

     

  • ฟอร์มาลินกับแมงกะพรุน

            แมงกะพรุน อาหารทะเลที่นิยมนำมาปรุง หรือประกอบเป็นอาหารได้หลากหลายเมนู เช่นนำมายำ ผัดน้ำมันงา ใช้เป็นส่วนประกอบของสุกี้ นำมาตากแห้งแล้วใส่ในเย็นตาโฟทว่าแมงกะพรุน เป็นอาหารทะเลที่อาจเก็บสดๆ ไว้ได้ไม่นาน เพราะจะไม่สด มีสีคล้ำ ไม่น่าทาน ถ้าจะให้คงความสดน่าทาน พ่อค้า แม่ค้าบางรายเลยใช้ตัวช่วยด้วยการแช่น้ำยาฟอร์มาลิน เพื่อให้คงสภาพความสดไว้ หลายคนรู้จักฟอร์มาลินว่าเป็นน้ำยาดองศพ ใช้เพื่อไม่ให้ศพเน่าเปื่อยปกติสารละลายฟอร์มาลิน (มีฟอร์มัลดีไฮด์เป็นส่วนประกอบหลัก) นำมาใช้ในทางการแพทย์ เคมี การเกษตร แต่ด้วยคุณสมบัติเด่นด้านการคงสภาพความสด ทำให้พ่อค้าแม่ค้าแอบนำมาใช้ในทางที่ผิด คือ นำมาแช่เนื้อสัตว์ อาหารทะเล ผักผลไม้ เช่น แมงกะพรุน ปลา กุ้ง หมึก กระหล่ำปี ถั่วงอก เห็ด เพื่อให้คงความสด น่าทานและเก็บไว้ขายได้นานๆ โดยไม่คำนึงถึงอันตรายที่อาจเกิดกับผู้บริโภคอย่างเราๆ ฟอร์มาลินเป็นสารที่ห้ามใช้ในอาหาร เพราะเป็นสารอันตรายถ้าได้รับเข้าสู่ร่างกายปริมาณสูง จะเกิดความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารเฉียบพลัน ทำให้ปวดท้องอย่างรุนแรง อาเจียน ท้องเสีย แต่หากได้รับปริมาณน้อยๆ เป็นระยะเวลานานจะทำให้เกิดผลเสีย กับระบบต่างๆ ของร่างกาย หรือก่อให้เกิดมะเร็ง

     

  • เชื้อก่อโรคในหมูสามชั้นต้ม

                หมูสามชั้น อาหารที่เป็นแหล่งไขมันของคนไทยมาแต่โบราณ ทั้งสามชั้นต้ม ทอดกรอบ หรือทอดน้ำปลา ล้วนเป็นเมนูที่หลายคนชื่นชอบและทานกันบ่อย  ปกติเราจะทานเมนูสามชั้นที่ปรุงให้สุกแล้ว  ซึ่งไม่น่ามีปัญหาอะไร ทว่าหากระหว่างการนำมาเตรียมหรือปรุงอาหาร ผู้ปรุงไอหรือจามรดอาหาร หรือหากปรุงสุกแล้วเก็บรักษาไว้ในที่ที่มีอุณหภูมิสูง อาจเป็นสาเหตุให้เชื้อโรคที่อาจมีในอาหาร เช่น สแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส และ ซาลโมเนลลา  มีการเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว และเมื่อเราทานเข้าสู่ร่างกายก็อาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษได้ 

  • วิตามินซีกับเครื่องดื่มผสมวิตามิน

                ยุคที่มีโรคระบาดเกิดขึ้นทั่วโลกอย่าง 2 ปีมานี้  ยา อาหาร เครื่องดื่มที่ส่งผลดีต่อสุขภาพหรือป้องกันโรค นับเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ  โดยเฉพาะอาหารและเครื่องดื่มเสริมภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย ที่เห็นผลิตออกมาขายช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อย่างหลากหลาย ได้แก่ เครื่องดื่มผสมวิตามินต่างๆ การแพร่ระบาดของโควิด 19  ได้ทำให้คนหันมาหาวิตามินซีทานเพื่อช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น   ก็ยิ่งทำให้วิตามินซีเป็นหนึ่งในวิตามินที่ผู้ผลิตนำมาเติมในเครื่องดื่ม เพื่อประโยชน์ด้านการเสริมสร้างภูมิต้านทานของร่างกาย และบำรุงผิวพรรณ

  • ไนเตรตและไนไตรต์ในแหนม

               แหนม อาหารแปรรูปจากเนื้อสัตว์ มีส่วนประกอบหลักคือ เนื้อหมู หนังหมู ที่นำมาหมักกับข้าว น้ำตาล และส่วนผสมอื่นๆ คนไทยภาคเหนือนิยมกินกันมาก ด้วยเพราะรสเปรี้ยวและกลิ่นหมักเฉพาะตัวของแหนม หากเราทำแหนมกินกันเองในครอบครัว จะมั่นใจถึงความสะอาดและปลอดภัยได้  แต่หากซื้อแหนมสำเร็จรูปตามท้องตลาดหรือซูเปอร์มาร์เก็ตอาจต้องระวังเรื่องของสารไนเตรตและไนไตรต์ ซึ่งเป็นวัตถุกันเสียที่รู้จักกันในชื่อ “ดินปะสิว”  สารชนิดนี้นิยมใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มเนื้อสัตว์แปรรูป เพราะเป็นทั้งสารกันเสียช่วยยับยั้งการเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย และช่วยคงสภาพสี ให้เนื้อสัตว์เป็นสีชมพูที่น่ารับประทาน

Page: 1 of 65 page(s)
PREV 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 14 15 NEXT