สถาบันอาหาร | National Food Institute| อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร
สารฟอกขาวกับเห็ดหูหนูขาวแห้ง

ตะกั่วในกระเพาะปลาแห้ง

 

        กระเพาะปลาแห้ง วัตถุดิบที่คนจีนนิยมนำมาใช้เป็นส่วนประกอบเมนูอาหารหลายชนิด เพราะมีสรรพคุณช่วยบํารุงเซลล์ เนื้อเยื่อ ทําให้เนื้อเยื่อแข็งแรงและกระชับ เสริมภูมิคุ้มกันของร่างกายให้พลังงาน แก้อาการตกเลือด ช่วยให้ร่างกายอบอุ่น เลือดลมไหลเวียนดี กระเพาะปลา ทำมาจากถุงลมของปลาหลายชนิด เช่น ปลากะพง ปลาอินทรี ปลากุเลา ปลาไหลทะเล การผลิตกระเพาะปลาแห้งเริ่มจากแยกเครื่องในออกจากตัวปลา นำส่วนของถุงลมปลาไปล้างน้ำให้สะอาด แล้วนำไปตากแห้ง หลังจากนั้นทอดให้ขึ้นฟู กรอบ ก็จะได้กระเพาะปลาแห้งที่วางขายตามท้องตลาด

        ทว่าปลาเป็นอาหารที่พบว่าอาจมีโลหะหนักปนเปื้อนได้ เช่น ตะกั่ว ที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล การทำเหมือง อุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ จึงพบตะกั่วปนเปื้อนได้ในสิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ อากาศ ตะกั่วสามารถตกตะกอนและสะสมได้ในแหล่งน้ำจืด ทะเล ฉะนั้นปลา สัตว์น้ำ อาหารทะเลที่เรานำมาปรุงและทานเป็นอาหารจีนมีโอกาสพบตะกั่วปนเปื้อน เมื่อเราได้รับตะกั่วเข้าสู่ร่างกายปริมาณไม่มาก โดยปกติร่างกายจะมีกลไกขับออกได้หมด แต่หากได้รับในปริมาณมากๆ อาจก่อให้เกิดภาวะตะกั่วเป็นพิษ ทำให้มีอาการปวดหัวรุนแรง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก หรือหากมีตะกั่วสะสมอยู่ในร่างกายจะก่อให้เกิดโรค เช่น โลหิตจาง ทำลายระบบประสาทส่วนปลาย ส่งผลให้เกิดอัมพาต ไตอักเสบ และเป็นหมัน ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 414 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน กำหนดให้อาหารอื่นนอกเหนือจากที่กำหนดมีปริมาณตะกั่วปนเปื้อนได้สูงสุดไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม สถาบันอาหารได้เก็บตัวอย่างกระเพาะปลาแห้ง 5 ตัวอย่าง จาก 5 ร้านค้าในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล เพื่อนำมาวิเคราะห์ปริมาณตะกั่วปนเปื้อน ผลปรากฏว่า พบตะกั่วปนเปื้อนใน 2 ตัวอย่าง แต่ปริมาณที่พบน้อยมากและยังไม่เกินค่ามาตรฐานของไทย วันนี้ ทานเมนูที่มีกระเพาะปลากันได้อย่างสบายใจ แต่ไม่ควรทานบ่อยๆ หรือซ้ำๆเป็นเวลานาน ควรทานอาหารให้หลากหลายเพื่อความปลอดภัยของร่างกายในระยะยาว.

 

ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย

เอกสารเพิ่มเติม :
แนะนำลิงก์


Style Switcher

2 Color Skins