สถาบันอาหาร | National Food Institute| อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร
สารกันหืนกับมันฝรั่งแผ่นทอดกรอบ

สารกันหืนกับมันฝรั่งแผ่นทอดกรอบ

 

        มันฝรั่งแผ่นทอดกรอบขนมขบเคี้ยวหรือของทานเล่นที่เป็นที่นิยมในกลุ่มเด็กและวัยรุ่นไทย ปัจจุบันมีหลากหลายยี่ห้อและหลายรสชาติให้เลือกซื้อ กรรมวิธีการผลิตเริ่มจากคัดเลือกขนาดมันฝรั่งที่ได้คุณภาพ ล้างทำความสะอาด ปอกเปลือก หั่นสไลด์เป็นแผ่นบางเรียบหรือแผ่นหยัก นำไปทอดในน้ำมันพืช แล้วปรุงรสด้วยผงปรุงรสต่างๆ ก็จะได้มันฝรั่งแผ่นทอดกรอบสีเหลืองทองที่มีรสชาติตามต้องการ

        ทว่า กรรมวิธีการผลิตมันฝรั่งแผ่นทอดกรอบ ผู้ผลิตบางรายอาจใช้สารกันหืนเพื่อป้องกันการเกิดกลิ่นหืนในระหว่างการเก็บรักษาได้ เช่น การใช้ BHA และ BHT ซึ่งเป็นวัตถุกันหืนที่ไทยอนุญาตให้ใช้ในอาหารได้ นิยมใช้ในอาหารที่มีไขมันสูง อาหารที่ผ่านการอบหรือทอด เช่น มันฝรั่งทอด ขนมขบเคี้ยวที่มีธัญพืช หรือแป้งเป็นส่วนประกอบหลัก เพื่อป้องกันการเกิดกลิ่นหืน ตามกฎหมายของไทยให้ใช้สาร BHA และ BHT กันหืนในผลิตภัณฑ์กลุ่มขนมขบเคี้ยว โดยกำหนดปริมาณสูงสุดที่ให้ใช้ได้ไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม จะใช้ชนิดเดียวหรือใช้ผสมร่วมกันก็ได้

        แม้ปัจจุบันไม่มีรายงานว่าสาร BHA และ BHT มีผลกระทบต่อสุขภาพแบบเฉียบพลัน แต่หากเราได้รับเข้าสู่ร่างกายจากการทานอาหารในปริมาณมากๆ และติดต่อกันเป็นเวลานานอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ เช่น เกิดอันตรายต่อกระเพาะอาหาร เซลล์ประสาทส่วนกลาง

        สถาบันอาหารได้เก็บตัวอย่างมันฝรั่งแผ่นทอดกรอบที่ผลิตในไทยและนำเข้าจำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ยี่ห้อ ในเขตกรุงเทพฯ เพื่อนำมาวิเคราะห์ปริมาณสาร BHA และ BHT ผลการวิเคราะห์พบว่า ทั้ง 5 ตัวอย่างไม่พบสาร BHA และ BHT เลย ท่านที่ชื่นชอบมันฝรั่งทอดกรอบสบายใจกันได้แต่ไม่ควรทานในปริมาณมาก ควรเลือกทานอาหารให้หลากหลายและครบ 5 หมู่จะดีกว่าเพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรงและร่างกายมีความปลอดภัยในระยะยาว.

 

ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย

 

เอกสารเพิ่มเติม :
แนะนำลิงก์


Style Switcher

2 Color Skins