สถาบันอาหาร | National Food Institute| อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร
ขนมขาไก่กับสีผสมอาหาร

ขนมขาไก่กับสีผสมอาหาร

 

        ขนมขาไก่ ขนมที่เด็กไทยชื่นชอบมายาวนาน ด้วยความที่มีรสชาติกลมกล่อม เคี้ยวเพลิน นิยมทานเป็นของทานเล่น ขนมขาไก่มีลักษณะเป็นท่อนเล็กๆ ขนาดพอคำ ส่วนผสมหลักคือ แป้งสาลี แป้งมันสำปะหลัง น้ำตาล น้ำปลา เกลือ พริกไทย พริกป่น เมื่อผสมได้ที่แล้ว นำไปทอดหรืออบจนสุกก็จะได้ขนมขาไก่สีออกเหลืองน่าทาน ปัจจุบันหาซื้อได้ง่ายตามร้านสะดวกซื้อ ในตลาดที่มักตักใส่ถุงแบ่งขาย และในห้างสรรพสินค้า

        ทว่า การผลิตขนมขาไก่อาจมีผู้ประกอบการบางรายเติมสีผสมอาหารสังเคราะห์ลงไป เพื่อให้ขนมขาไก่มีสีเหลืองหรือส้มเข้มสดใส ไม่ซีด และดูน่าทาน ตามกฎหมายของไทยอนุญาตให้ใช้สีผสมอาหารสังเคราะห์ในขนมขาไก่ได้ เช่น สีเอโซรูบีน (แดงเข้ม), บริลเลียนต์ บลู เอฟซีเอฟ (น้ำเงิน), อีริโทรซิน (ชมพู), ปองโซ 4 อาร์ (แดงสด), ซันเซตเยลโลว เอฟซีเอฟ (เหลืองส้ม) และตาร์ตราซิน (เหลือง) ในปริมาณที่อนุญาตเท่านั้น เพราะหากได้รับสีผสมอาหารมากเกินไปอาจทำให้ร่างกายกำจัดออกไม่หมด เกิดการสะสมในร่างกาย ทำให้มีอาการผื่นที่ผิวหนัง หน้าบวม อาเจียน ท้องเดิน ชา เพลีย อ่อนแรง และสีอาจไปเคลือบเยื่อบุกระเพาะอาหาร ลำไส้ ทำให้ร่างกายหลั่งน้ำย่อยอาหารออกมาไม่สะดวก ทำให้อาหารย่อยยาก ขัดขวางการดูดซึมอาหาร หรืออาจมีอาการตับไตอักเสบได้

        สถาบันอาหาร เก็บตัวอย่างขนมขาไก่จำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 3 ร้านค้าและ 2 ยี่ห้อ ในเขตกรุงเทพฯ เพื่อนำมาวิเคราะห์สีผสมอาหาร 8 ชนิด ผลการวิเคราะห์พบว่าขนมขาไก่ทั้ง 5 ตัวอย่าง พบสีผสมอาหารชนิดซันเซตเยลโลว เอฟซีเอฟ (สีเหลืองส้ม) เท่านั้น และพบอยู่ในช่วง 108.58-133.56 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งปริมาณยังน้อยกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด วันนี้ เด็กๆทานขนมขาไก่กันได้อย่างปลอดภัยและสบายใจ แต่ไม่ควรทานปริมาณมากๆในครั้งเดียว หรือทานเป็นประจำ ควรทานผัก ผลไม้ร่วมด้วยและทานให้ครบ 5 หมู่ เพื่อความปลอดภัยและแข็งแรง.

ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย

เอกสารเพิ่มเติม :
แนะนำลิงก์


Style Switcher

2 Color Skins