สถาบันอาหาร | National Food Institute| อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร
ไส้กรอกนมกับไนเทรตและไนไทรต์

ไส้กรอกนมกับไนเทรตและไนไทรต์

     ไส้กรอกนม ของว่างที่เด็กๆวัยรุ่นหรือแม้แต่ผู้ใหญ่ชอบทาน เพราะหาซื้อง่าย ทานสะดวก อิ่มท้อง และราคาจับต้องได้ โดยเฉพาะไส้กรอกนมที่มีสีชมพูน่ารัก มีกลิ่นนมหรือวานิลลาหอมน่าทาน ไส้กรอกนมส่วนใหญ่ผลิตจากเนื้อไก่บด ผสมกับแป้งมัน เครื่องเทศ เครื่องปรุงต่างๆ และวัตถุเจือปนอาหาร เช่น สารกลุ่มไนเทรตและไนไทรต์ ที่ผู้ผลิตอาจเติมลงไปเพื่อตรึงสีของไส้กรอกให้คงสีชมพูสวยงาม ไม่ให้มีสีคล้ำ และป้องกันการเน่าเสียทำให้เก็บรักษาไส้กรอกนมไว้ขายได้นานๆ ตามกฎหมายไทยอนุญาตให้ใช้สารกลุ่มไนเทรตและไนไทรต์เติมในอาหารได้ เพื่อคงสภาพสีและกันเสีย โดยอนุญาตให้ใช้ในอาหารตามชนิดที่อนุญาตและในปริมาณที่กำหนดเท่านั้น เพราะหากผู้บริโภคทานอาหารที่มีไนเทรตหรือไนไทรต์ปริมาณมากๆ หรือมากเกินไปเข้าสู่ร่างกาย อาจเกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ เช่น ปัสสาวะบ่อย อ่อนเพลีย หมดสติ เมื่อไนเทรตเข้าสู่ร่างกายจะถูกเปลี่ยนเป็นไนไทรต์ และไนไทรต์ สามารถเปลี่ยนเป็นไนโตรซามีนสารที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคมะเร็งในอวัยวะต่างๆได้

     สถาบันอาหารได้เก็บตัวอย่างไส้กรอกนมจำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ยี่ห้อ ในเขตกรุงเทพฯเพื่อนำมาวิเคราะห์ปริมาณไนเทรตและไนไทรต์ ผลการวิเคราะห์พบว่าไส้กรอกนมทั้ง 5 ตัวอย่าง พบปริมาณไนเทรตในช่วง 7.11-18.63 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และพบปริมาณไนไทรต์อยู่ในช่วง 4.38-32.05 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งปริมาณไนไทรต์ที่พบนั้นยังไม่เกินค่ามาตรฐานตามกฎหมายไทยที่อนุญาตให้ใช้ไนไทรต์ในไส้กรอกสูงสุดได้ไม่เกิน 80 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม วันนี้ผู้บริโภคทานไส้กรอกนมกันได้อย่างปลอดภัย ก่อนซื้อควรอ่านฉลากให้ทราบข้อมูลด้วยว่าใส่วัตถุเจือปนอาหารชนิดที่กฎหมายอนุญาตหรือไม่ ที่สำคัญควรทานอาหารให้หลากหลาย ครบ 5 หมู่เพื่อร่างกายที่แข็งแรงและปลอดภัย.

 

ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย

เอกสารเพิ่มเติม :
แนะนำลิงก์


Style Switcher

2 Color Skins