ข่าวประชาสัมพันธ์สถาบันอาหาร | National Food Institute| อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร

สถาบันอาหาร | National Food Institute| อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร
สถาบันอาหาร - ส.อ.ท. - สภาหอการค้าฯ เผยส่งออกอาหาร 9 เดือนแรกปี 66 ทำรายได้ 1.16 ล้านล้านบาท ทั้งปีคาดมูลค่า 1.55 ล้านล้านบาท ในปี 2567 คาดว่าจะมีมูลค่าส่งออกอาหาร 1.65 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5

สถาบันอาหาร - ส.อ.ท. - สภาหอการค้าฯ เผยส่งออกอาหาร 9 เดือนแรกปี 66 ทำรายได้ 1.16 ล้านล้านบาท ทั้งปีคาดมูลค่า 1.55 ล้านล้านบาท ในปี 2567 คาดว่าจะมีมูลค่าส่งออกอาหาร 1.65 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5



สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสถาบันอาหาร ร่วมเผยส่งออกอาหาร 9 เดือนแรกปี 2566 ทำรายได้เข้าประเทศ 1.16 ล้านล้านบาท โตร้อยละ 4.6 คาดทั้งปีส่งออกได้ 1.55 ล้านล้านบาท ประเมินปี 67 ส่งออกแตะ 1.65 ล้านล้านบาท ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกโตต่ำ เงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยสูง สงครามที่คุกรุ่น ความกังวลด้านความมั่นคงทางอาหาร และปรากฏการณ์เอลนีโญ่ที่ส่งผลกระทบต่อผลิตเกษตรอาหารทั่วโลก

การแถลงข่าวร่วม 3 องค์กรเศรษฐกิจด้านธุรกิจเกษตรและอาหาร มีตัวแทนหลัก ประกอบด้วย นายเจริญ แก้วสุกใส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการ หอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคตและนางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร หน่วยงานเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม ณ ห้องประชุม PASSION (802) ชั้น 8 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร ให้ข้อมูลการส่งออกสินค้าอาหารไทยในช่วง 9 เดือนแรก ปี 2566 มีมูลค่า 1.16 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรอาหารในหลายภูมิภาคลดลง จึงมีความต้องการสินค้าอาหารมากขึ้นเพื่อเพิ่มปริมาณการสำรองอาหารในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียนและเอเชียใต้ ในส่วนของประเทศไทย แม้ผลผลิตวัตถุดิบการเกษตรของไทยหลายรายการจะลดลง แต่สินค้าส่งออกไทยได้รับประโยชน์จากความต้องการและราคาตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่ทำให้เกิดภัยแล้ง โดยเฉพาะข้าวและน้ำตาลทราย

ตลาดภายในภูมิภาคอย่างจีน อาเซียนเดิม (5) ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน และกลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม เป็นตลาดหลักที่ส่งผลทำให้ภาพรวมส่งออกอาหารไทยในปี 2566 ขยายตัว โดยมีผลไม้สด ข้าว และน้ำตาลทราย เป็นสินค้าหลักที่มูลค่าส่งออกขยายตัวสูง สำหรับกลุ่มสินค้าส่งออกที่หดตัวลงส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบทั้งจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักชะลอตัว (สหรัฐฯ ยุโรป จีน ญี่ปุ่น) และปัญหาวัตถุดิบการเกษตรที่มีผลผลิตลดลงและต้นทุนสูงขึ้น เช่น มันสำปะหลัง สับปะรด ปลาทูน่า ยกเว้นกุ้งที่มีราคาตกต่ำ

แนวโน้มไตรมาสสุดท้ายจะฟื้นตัวจากไตรมาสก่อน เพราะได้รับแรงหนุนจากปริมาณวัตถุดิบการเกษตรฤดูการผลิตใหม่ที่เข้าสู่ตลาด รวมถึงต้นทุนวัตถุดิบในกลุ่มอาหารทะเลแปรรูปและอาหารสัตว์เลี้ยงที่อ่อนตัวลงมาอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง ส่งผลทำให้ปริมาณคำสั่งซื้อของลูกค้ามีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น คาดทั้งปี 2566 การส่งออกอาหารไทยจะมีมูลค่า 1.55 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5

นางอนงค์ ได้ประเมินแนวโน้มส่งออกสินค้าอาหารไทยในปี 2567 ว่า “อุตสาหกรรมอาหารไทยปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งภาคการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศและอุตสาหกรรมการผลิตที่เน้นการส่งออก อุตสาหกรรมการผลิตที่มีตลาดในประเทศ จะขยายตัวโดดเด่นตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ที่ ขณะที่การส่งออกอาหารไทยในปี 2567 คาดว่าจะมีมูลค่า 1.65 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจในประเทศกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่ที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งตามภาคบริการและอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ขณะที่แรงกดดันจากเงินเฟ้อเริ่มคลายตัวลงหลังทางการประเทศต่างๆ ใช้นโยบายการเงินเข้มงวดในช่วงก่อนหน้า สินค้าอาหารไทยได้รับประโยชน์จากการที่ประเทศคู่ค้ากังวลเรื่องความมั่นคงทางอาหาร เช่นเดียวกับปรากฏการณ์เอลนีโญทำให้ผลผลิตการเกษตรลดลง ความต้องการอาหารเพิ่มขึ้น รวมถึงเงินบาทผันผวนน้อยลงและยังอยู่ในระดับที่เอื้อต่ออุตสาหกรรมอาหาร โดยในปี 2567 เงินบาทที่คาดว่าจะมีค่าเฉลี่ย 34.505 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ใกล้เคียงกับปี 2566 ตามการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติและดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย ซึ่งเป็นระดับที่จะเอื้ออำนวยต่อการส่งออกสินค้าอาหารไทย”

ในปี 2566 ไทยมีส่วนแบ่งตลาดอาหารโลกเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.47 จากร้อยละ 2.25 ในปีก่อน ในขณะที่ประเทศจีนและเวียดนามมีส่วนแบ่งตลาดอาหารโลกเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับไทย ส่วนอินเดีย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย มีส่วนแบ่งตลาดอาหารโลกลดลงจากปีก่อน จากมาตรการจำกัดการส่งออกสินค้าเกษตรอาหารหลายรายการเพื่อเพิ่มความมั่นคงทางอาหารของอินเดีย รวมถึงสินค้าส่งออกหลักของอินโดนีเซียและมาเลเซียอย่างน้ำมันปาล์มที่มีราคาลดลง
ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 12 ของโลก ปรับตัวดีขึ้น 3 อันดับ จากอันดับที่ 15 ของโลกในปี 2565

เครดิตภาพจาก : คุณเอกชัย คำแพงดี ฝ่ายสื่อสารองค์กร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม :
จีระศักดิ์ คำสุริย์
โทร. 02 422 8688 ต่อ 3112
อีเมล์ : Chirasak@nfi.or.th

แนะนำลิงก์


Style Switcher

2 Color Skins