สถาบันอาหาร | National Food Institute| อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร
น้ำตาลในชานมไต้หวัน

น้ำตาลในชานมไต้หวัน

 

        ชานมไต้หวัน เครื่องดื่มที่ใช้ใบชาที่มีแหล่งกำเนิดจากไต้หวันมาชงเป็นชาดำร้อนผสมเข้ากับนมสด น้ำตาลหรือน้ำเชื่อม ครีมเทียม เมนูนี้ดังเป็นพลุแตกในกลุ่มวัยรุ่นและคนวัยทำงานในไทย หน้าร้อนของเมืองไทยแบบทุกวันนี้ที่อากาศร้อนมากจนระอุ หากดื่มชานมไต้หวันใส่น้ำแข็งเย็นๆ สักแก้วจะทำให้สดชื่นและได้รสหวานชื่นฉ่ำใจ ทว่า สิ่งที่จะขอเตือนในวันนี้ คือ น้ำตาลที่มีอยู่ในชานมไต้หวัน     

        แม้น้ำตาลจะมีประโยชน์ คือ ให้พลังงานแก่ร่างกายและสมอง กระตุ้นการหลั่งสารเคมีในสมองทำให้สดชื่น กระปรี้กระเป่าและช่วยให้อารมณ์ดี แต่หากได้รับในปริมาณมากเกินความต้องการของร่างกายก็เกิดโทษได้ เช่น ก่อให้เกิดโรคฟันผุ โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด และความดันสูง องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ใน 1 วัน ผู้ที่ต้องการพลังงาน 1,600 กิโลแคลอรี เช่น เด็ก ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ไม่ควรได้รับน้ำตาลเข้าสู่ร่างกายเกิน 4 ช้อนชา (16 กรัม)  ส่วนผู้ที่ต้องการพลังงาน 2,000 กิโลแคลอรี เช่น วัยรุ่นหญิง ชายและวัยทำงาน ไม่ควรได้รับน้ำตาลเกิน 6 ช้อนชา (24 กรัม) ต่อวัน แล้วในชานมไต้หวันที่เราซื้อดื่มทุกวันนี้ 1 แก้ว มีน้ำตาลปริมาณเท่าไหร่  คอลัมน์มันมากับอาหารมีคำตอบ                

        สถาบันอาหารได้เก็บตัวอย่างชานมไต้หวัน (สูตรหวานปกติ) จำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ร้านค้า ในเขตกรุงเทพฯ เพื่อนำมาวิเคราะห์ปริมาณน้ำตาลทั้งหมด ผลการวิเคราะห์พบว่าในชานมไต้หวัน 1 แก้ว มีปริมาณน้ำตาลทั้งหมดอยู่ในช่วง 21.12 – 37.02 กรัม ซึ่งมีอยู่ 3 ตัวอย่างที่พบว่ามีปริมาณน้ำตาลทั้งหมดเกิน  24 กรัม หรือเกินปริมาณที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ได้รับต่อวัน เห็นผลวิเคราะห์อย่างนี้ขอแนะว่า สาวกชานมไต้หวันทั้งหลาย ควรสั่งชานมไต้หวันแบบหวานน้อย หรือหวาน 50% หรือ ซื้อจากร้านที่มีสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพจะดีกว่า เพื่อให้ได้รับน้ำตาลไม่เกินความต้องการของร่างกาย อย่าลืมว่า ในหนึ่งวันเรายังได้รับน้ำตาลจากอาหารชนิดอื่นๆ ที่เราทานเข้าไปด้วย ลดหวาน ลดโรค

 

ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย

 

เอกสารเพิ่มเติม :
แนะนำลิงก์


Style Switcher

2 Color Skins