สถาบันอาหาร | National Food Institute| อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร
สารกันเสียกับกาน่าฉ่าย

สารกันเสียกับกาน่าฉ่าย

 

        กาน่าฉ่ายอาหารชาวจีนแต่โบราณ ปัจจุบันนิยมทานช่วงเทศกาลกินเจเพราะให้ไฟเบอร์สูง อยู่ท้อง กาน่าฉ่ายทำจากผักกาดดอง นำมาล้างให้สะอาด หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำไปผัดกับน้ำมันพืชด้วยไฟอ่อน จากนั้นเติมลูกสมอหรือลูกกาน่า ปรุงรสด้วยน้ำมันงา ผงชูรส และเกลือ ผัดจนมีกลิ่นหอม เนื้อนิ่ม สีออกดำ ก็จะได้กาน่าฉ่ายมีรสชาติเปรี้ยว หวาน มัน เค็มกลมกล่อม ทว่าผู้ผลิตบางรายที่ต้องการให้กาน่าฉ่ายเน่าเสียหรือเสื่อมคุณภาพช้าก็อาจเติมสารกันเสีย เช่น กรดเบนโซอิก กรดซอร์บิกลงไป เพื่อให้สามารถเก็บรักษากาน่าฉ่าย ไว้ขายได้นานๆ แม้กฎหมายจะอนุญาตให้เติมสารกันเสีย 2 ชนิดนี้ในอาหารได้ แต่ก็กำหนดให้ใช้ได้ในอาหารบางชนิด และให้ใช้ในปริมาณที่อนุญาตได้เท่านั้น เพราะหากร่างกายได้รับสารกันเสียปริมาณมากๆ หรือมากเกินไปอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย เช่น คลื่นไส้, อาเจียน, ปวดหัว, ปวดท้อง, ท้องเสีย, มีผื่นขึ้น, ไม่มีแรง และอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของตับและไตได้ สถาบันอาหารเก็บตัวอย่างกาน่าฉ่ายจำนวน 5 ตัวอย่างจาก 5 ร้านค้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อนำมาวิเคราะห์สารกันเสีย 2 ชนิดคือ กรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก ผลปรากฏว่า พบกรดเบนโซอิกในกาน่าฉ่ายทั้ง 5 ตัวอย่าง และมีอยู่ 2 ตัวอย่าง ที่พบกรดเบนโซอิกในปริมาณเกินค่ามาตรฐานที่กำหนดให้พบกรดเบนโซอิกปริมาณสูงสุดได้ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เทศกาลกินเจปีนี้เลือกทานกาน่าฉ่ายกันให้ดี ขอแนะว่าเลือกซื้อจากร้านที่มั่นใจ เชื่อมั่นได้ถึงคุณภาพและความปลอดภัย ที่สำคัญควรเลือกทานอาหารเจให้หลากหลาย อย่าทานชนิดเดียวกันซ้ำๆ หรือทานปริมาณมากๆ เพื่อความอิ่มบุญ อิ่มใจและความปลอดภัยของร่างกายในระยะยาว.

 

ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย

เอกสารเพิ่มเติม :
แนะนำลิงก์


Style Switcher

2 Color Skins