สถาบันอาหาร | National Food Institute| อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร
ตะกั่วกับช็อกโกแลต

ตะกั่วกับช็อกโกแลต

 

        ช็อกโกแลต ขนมหวานแสนอร่อยที่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่นิยมทานเป็นอาหารทานเล่น ช็อกโกแลตมีส่วนประกอบหลักคือผงโกโก้ เนยโกโก้ นม น้ำตาล ที่เราเห็นขายทั่วไปในท้องตลาด มีหลายรสชาติ เช่น ดาร์กช็อกโกแลต ช็อกโกแลตนม ช็อกโกแลตเคลือบน้ำตาล ช็อกโกแลตสอดไส้ถั่วชนิดต่างๆ ซึ่งมีรูปลักษณ์ทั้งแบบแท่ง กลม สี่เหลี่ยม รูปสัตว์ต่างๆ และรูปหัวใจ ที่หนุ่มสาวนิยมซื้อเป็นของขวัญให้กันในเทศกาลวันวาเลนไทน์ เพื่อแสดงออกถึงความรัก ทว่า สิ่งหนึ่งที่ขอเตือนผู้ที่ชื่นชอบช็อกโกแลตให้พึงระวังคือ การปนเปื้อนของโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว สารตะกั่วพบได้ทั่วไปในดิน หิน น้ำและพืชโดยเฉพาะในพื้นที่และบริเวณที่มีโรงงานอุตสาหกรรม หรือการทำเหมือง ซึ่งพืชสามารถดูดซึมสารตะกั่วจากดินและน้ำเข้าไปสะสมในส่วนต่างๆของพืช เมื่อเรานำพืชนั้นมาประกอบหรือแปรรูปเป็นอาหารอาจทำให้อาหารมีตะกั่วปนเปื้อนอยู่ด้วย ช็อกโกแลตก็เช่นเดียวกัน หากโกโก้หรือส่วนประกอบอื่นที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตมีตะกั่วปนเปื้อน ก็อาจทำให้ช็อกโกแลตนั้นมีตะกั่วปนเปื้อนไปด้วย เมื่อเราทาน อาหารที่มีตะกั่วปนเปื้อนปริมาณน้อยๆ และไม่บ่อยเข้าสู่ร่างกาย ร่างกายจะสามารถขับออกตามธรรมชาติได้หมดทางไต เหงื่อ และน้ำดี แต่หากอาหาร นั้นมีตะกั่วปนเปื้อนในปริมาณมากๆ อาจก่อให้เกิดภาวะตะกั่วเป็นพิษ ทำให้มีอาการปวดหัว เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก และอาจเกิดการสะสมของตะกั่วในร่างกาย ส่งผลให้เกิดโรคโลหิตจาง ทำลายระบบประสาทส่วนปลาย ส่งผลให้เกิดอัมพาต ไตอักเสบได้ อีกไม่กี่วันก็เข้าสู่เทศกาลวันวาเลนไทน์กันแล้ว สถาบันอาหารได้เก็บตัวอย่างช็อกโกแลตจำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ยี่ห้อ เพื่อนำมาวิเคราะห์ตะกั่วปนเปื้อน ผลวิเคราะห์พบว่าทั้ง 5 ตัวอย่างไม่พบตะกั่วปนเปื้อนเลย ตามกฎหมายไทยอนุญาตให้พบตะกั่วปนเปื้อนได้สูงสุดไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เห็นผลวิเคราะห์อย่างนี้แล้ว วาเลนไทน์ปีนี้ซื้อหาช็อกโกแลตเป็นของกำนัลให้กับคนรักกันได้อย่างสบายใจ.

 

ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย

เอกสารเพิ่มเติม :
แนะนำลิงก์


Style Switcher

2 Color Skins